ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โทร 052-080778
นายเจริญ ซ้อนฝั้น
นายกองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0843782356
นายบดินทร์ คล้อยคล้า
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0854265973

ขณะนี้ 5 คน
สถิติวันนี้ 615 ครั้ง
สถิติเดือนนี้ 33,531 ครั้ง
สถิติปีนี้ 747,391 ครั้ง
สถิติทั้งหมด 2,537,255 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2557
 

เปิดประตูสู่อาเซียน (15 มิ.ย. 58)


อาเซียน (ASEAN) เป็นการรวมตัวกันของ  10  ประเทศ   ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฎิญญาว่าด้วย  ความร่วมมืออาเซียนเห็นชอบ ให้จัดตั้ง  ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)   คือ  เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์   ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน ก.ค.2504 เพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม  แต่ ดำเนินการ ไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง  เนื่องจากความผกผันทางการเมือง ระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง และสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ในปีนั้นเองจะมีการเปิดกว้างให้ประชาชนในแต่ละประเทศสามารถเข้าไปทำงานในประเทศ อื่น ๆ ในประชาคมอาเซียนได้อย่างเสรี เสมือนดังเป็นประเทศเดียวกัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการมีงานทำของคนไทย ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน


ความเป็นมาของอาเซียน

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (Association  of  Southeast  Asian  Nations  หรือ  ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok  Declaration) หรือ  ปฏิญญาอาเซียน  (ASEAN  Declaration)  เมื่อวันที่ 8  สิงหาคม 2510  โดยมีประเทศสมาชิก 5 ประเทศ  ประกอบด้วย  อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  และไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจและสังคม  ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ต่อมามีประเทศสมาชิกเพิ่มเติม  ได้แก่  บรูไนดารุส-ซาลาม  เวียดนาม  ลาว  เมียนมาร์ และกัมพูชา ตามลำดับ  จึงทำให้ปัจจุบันอาเซียน  มีสมาชิก 10 ประเทศ


“อาเซียน” สู่การเป็นประชาคมอาเซียน  ในปี 2558
ปัจจุบัน  บริบททางการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม   รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก      ทำให้อาเซียนต้องเผชิญ สิ่งท้าทายใหม่ๆ    อาทิ    โรคระบาด    การก่อการร้าย   ยาเสพติด  การค้ามนุษย์  สิ่งแวดล้อม  ภัยพิบัติ  อีกทั้ง  ยังมีความจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง  และในเวทีระหว่างประเทศ  ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องกันว่า  อาเซียนควรจะร่วมมือกันให้เหนียวแน่น  เข้มแข็ง  และมั่นคงยิ่งขึ้น  จึงได้ประกาศ  “ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน  ฉบับที่ 2”  (Declaration  of  ASEAN  Concord  II)  ซึ่งกำหนดให้มีการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบไปด้วย  3  เสาหลัก ได้แก่
-  ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community - APSC) มุ่งให้ประเทศกลุ่มสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธี มีเสถียรภาพและความมั่นคงรอบด้าน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเหล่าประชาชน
-  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้โดย
-   ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio - Cultural Community - ASCC) มุ่งหวังให้ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และมีสังคมแบบเอื้ออาร โดยจะมีแผนงานสร้างความร่วมมือ 6 ด้าน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การลดช่องว่างทางการพัฒนา
ซึ่งต่อมาผู้นำอาเซียนได้ตกลงให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นมาเป็นภายในปี 2558

ประชาคมอาเซียน คือ
ประชาคมอาเซียน  (ASEAN  Community)  คือ  การรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่ง  สามารถสร้างโอกาสและรับมือส่งท้าท้าย  ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง  เศรษฐกิจ  และภัยคุกคามรูปแบบใหม่  โดยสมาชิกในชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี  สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น  และสมาชิก  ในชุมชนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จุดประสงค์หลักของอาเซียน
ปฏิญญากรุงเทพฯ ได้ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ 7 ประการของการจัดตั้งอาเซียน ได้แก่

1.  ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
2.  ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
3.  เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
4.  ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
5. ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

6. เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจนการปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม

7. เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การ ความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ  และองค์การระหว่างประเทศ

ภาษาอาเซียน

ภาษาทางการที่ใช้ในการติดต่อประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก  คือ ภาษาอังกฤษ

คำขวัญของอาเซียน

"หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม”
(One Vision, One Identity, One Community)

อัตลักษณ์อาเซียน

อาเซียนจะต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นเจ้าของในหมู่ประชาชนของตน  เพื่อให้บรรลุชะตา  เป้าหมาย  และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน


สัญลักษณ์อาเซียน
คือ   ดวงตราอาเซียนเป็น
รูปมัดรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นวงกลม
สีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาว  และสีน้ำเงิน
รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น หมายถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาสมาชิกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ  ให้มีอาเซียนที่ผูกพันกันอย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว
วงกลม เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเอกภาพของอาเซียน
ตัวอักษรคำว่า asean สีน้ำเงิน  อยู่ใต้ภาพรวงข้าว  แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง  สันติภพ  เอกภาพ  และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน
สีเหลือง    :   หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
สีแดง       :    หมายถึง ความกล้าหาญและการมีพลวัติ
สีขาว       :    หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีน้ำเงิน    :    หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

ธงอาเซียน
ธงอาเซียนเป็นธงพื้นสีน้ำเงิน  มีดวงตราอาเซียนอยู่ตรงกลาง  แสดงถึงเสถียรภาพ  สันติภาพ  ความสามัคคี  และพลวัตของอาเซียน
สีของธงประกอบด้วย  สีน้ำเงิน  สีแดง  สีขาว  และสีเหลือง  ซึ่งเป็นสีหลักในธงชาติของบรรดาประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้งหมด

วันอาเซียน
ให้วันที่  8  สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอาเซียน

เพลงประจำอาเซียน (ASEAN  Anthem)
คือ  เพลง  ASEAN  WAY

กฎบัตรอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน  กำหนดให้อาเซียนและประเทศสมาชิกปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
1.  เคารพเอกราช  อธิปไตย  ความเสมอภาค  บูรณภาพแห่งดินแดน  และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
2.  ผูกพันและรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ  ความมั่นคง  และความมั่งคั่งของภูมิภาค
3.  ไม่รุกรานหรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
4.  ระงับข้อพิพาทโดยสันติ
5.  ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
6.  เคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง  การบ่อนทำลาย  และการบังคับจากภายนอก
7.  ปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
8.  ยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม  ธรรมาภิบาล  หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ
9.  เคารพเสรีภาพพื้นฐาน  การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  และการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
10.  ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ    รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ  ที่  รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
11.  ละเว้นจากการมีส่วนร่วมในการคุกคามอธิปไตย  บูรณภาพแห่งดินแดนหรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
12. เคารพในวัฒนธรรม  ภาษา  และศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน
13.  มีส่วนร่วมกับอาเซียนในการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอกทั้งในด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม  โดยไม่ปิดกั้นและไม่เลือกปฏิบัติ
14. ยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียน

ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)
ประชาคมอาเซียนที่จะถือกำเนิดในปี 2558 นั้น คนไทยจะได้ประโยชน์อะไร แน่นอนเราคงอยากทราบ แต่ในชั้นนี้ขอจำกัดเฉพาะทางเศรษฐกิจก่อน

ประการแรก ไทยจะ “มีหน้ามีตาและฐานะ” เด่นขึ้นประชาคมอาเซียนจะทำให้เศรษฐกิจ “ของเรา” มีมูลค่ารวมกัน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีขนาดใหญ่อันดับ 9 ของโลก ยังประโยชน์แก่คนไทยทุกคนที่จะได้ยืนอย่างสง่างาม “ยิ้มสยาม” จะคมชัดขึ้น

ประการที่สอง การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนจะคล่องและขยายตัวมากขึ้น กำแพงภาษีจะลดลงจนเกือบจะหมดไป เพราะ 10 ตลาดกลายเป็นตลาดเดียว ผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปขายในตลาดนี้และขยับขยายธุรกิจของตนง่ายขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้นราคาสินค้าจะถูกลง

ประการที่สาม ตลาดของเราจะใหญ่ขึ้น แทนที่จะเป็นตลาดของคน 67 ล้านคน ก็จะกลายเป็นตลาดของคน 590 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เพราะสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังอีกเก้าประเทศได้ราวกับส่งไปขายต่างจังหวัด ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับจีนและอินเดียในการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น

ประการที่สี่ความเป็นประชาคมจะทำให้มีการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระหว่างกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน แต่ก็ยังผลพลอยได้ในแง่การไปมาหาสู่กัน ซึ่งก็จะช่วยให้คนในอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้จักกัน และสนิทแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เป็นผลดีต่อสันติสุข ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันโดยรวม นับเป็นผลทางสร้างสรรค์ในหลายมิติด้วยกัน

ประการที่ห้า โดยที่ ไทยตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียน ประเทศไทยย่อมได้รับประโยชน์จากปริมาณการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับจีน (และอินเดีย) มากยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ
บริษัทด้านขนส่ง คลังสินค้า ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ จะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน จริงอยู่ ประชาคมอาเซียนจะยังผลทั้งด้านบวกและลบต่อประเทศไทย ขึ้นอยู่กับพวกเราคนไทยจะเตรียมตัวอย่างไร แต่ผลทางบวกนั้นจะชัดเจน เป็นรูปธรรมและจับต้องได้



ที่มา : มติชน

อ่านต่อ: http://www.thai-aec.com/227#ixzz2ZSBZ80B2








 

 
 
 
 
Copyright © 2014-2024 โดย องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง - www.namboluang.go.th
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง เลขที่ 222 หมู่ที่ 2 ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 50120 โทรศัพท์ (052) 080778 โทรสาร (052) 080935 , (052) 080926 Email:namboluang@gmail.com

เว็บไซต์ออกแบบและพัฒนาโดย www.click2solutions.com