ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โทร 052-080778
นายเจริญ ซ้อนฝั้น
นายกองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0843782356
นายบดินทร์ คล้อยคล้า
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0854265973

ขณะนี้ 9 คน
สถิติวันนี้ 201 คน
สถิติเดือนนี้ 11943 คน
สถิติปีนี้ 123402 คน
สถิติทั้งหมด 1913266 คน
ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2557
 

ความรู้เรื่องจิตเวช (10 ส.ค. 59)

รคจิตเวชคืออะไร?

โรคจิตเวช คือ กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้บุคคลนั้นเกิดความทุกข์ทรมาน หรือมีความบกพร่องในกิจวัตรต่างๆ

โรคจิตเวชแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท โดยถือเอาสาเหตุและอาการเป็นตัวกำหนดโรคนั้นๆ

โรคจิตเวชที่พบบ่อยๆ ได้แก่

  1. โรคจิตเภท (Schizophrenia)
  2. โรคซึมเศร้า (Depression)
  3. โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
  4. โรคกังวลไปทั่ว (Generalized Anxiety Disorder)
  5. โรคออทิสซึ่ม (Autistic Disorder)
  6. ความผิดปกติที่เกิดจากการใช้สารเสพติด (Substance-related Disorder)
  7. โรคสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งแบ่งเป็นหลายชนิด เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Type)

สาเหตุทั่วไปของการเกิดโรคจิตเวช

ปัจจัยโน้มเอียงที่มีอยู่ก่อน

  1. พันธุกรรม มักพบว่าญาติของผู้ที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชหลายโรคมีโอกาสเป็นโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป
  2. พื้นอารมณ์ที่ติดตัวมาของบุคคล พื้นอารมณ์นี้จะมีผลต่อการแสดงออก ปฏิสัมพันธ์ และการรับรู้สิ่งรอบตัวของบุคคลนั้นๆ ซึ่งมีจะมีผลทางบวกหรือลบต่อสภาพจิตใจและบุคลิกภาพ

ปัจจัยที่เร่งให้เกิดอาการ

  1. ความผิดปกติในการหลั่งสารเคมีในสมอง  สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่งของร่างกายมนุษย์ สมองมีระบบประสาทที่ใหญ่โตซับซ้อน ทำหน้าที่รับและสื่อสารข้อมูลชนิดต่างๆ รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย สมองประกอบด้วยสารสื่อประสาทกว่า 100 ชนิด ที่คอยทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทในส่วนต่างๆ เมื่อมีสารสื่อประสาทมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็จะมีผลกระทบต่อเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้การสื่อสารข้อมูลต่างๆ ถูกรบกวน ซึ่งมีผลทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ อารมณ์ และร่างกาย
  2. การที่สมองถูกทำลายและการทำงานของสมองเสื่อมถอย  การบาดเจ็บที่สมอง เนื้องอกในสมอง และการติดเชื้อในสมองสามารถทำให้เกิดโรคจิตเวชได้ การกลายพันธุ์ของเซลล์สมองในคนชราสามารถทำให้การทำงานของสมองเสื่อมถอย ทำให้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
  3. ความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมน  สตรีบางคนจะมีอาการซึมเศร้าหลังการคลอดหรือก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากในช่วงนี้การหลั่งฮอร์โมนจะผิดปกติ ฮอร์โมนบางประเภทมีผลต่อความสมดุลทางอารมณ์
  4. ความเครียด ความเครียดและความวิตกกังวลมักจะเร่งให้เกิดอาการของโรคจิตเวช คนที่ไม่ยืดหยุ่นหรือเรียกร้องจากตนเองสูง (self-demanding) มักจะทำให้ตนเองต้องมีความกดดันที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ความกดดันที่เกิดจากเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การสูญเสียญาติ การว่างงาน ความแตกร้าวในชีวิตสมรส การเจ็บป่วยเรื้อรังและการเป็นหนี้ก็อาจเป็นตัวเร่งได้

ปัจจัยที่ทำให้อาการป่วยดำเนินต่อไป

  1. ไม่ได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม  โรคจิตเวชรักษาได้เช่นเดียวกับการป่วยเป็นโรคอื่นๆ และขอแนะนำให้รับการักษาตั้งแต่เริ่มป่วยในระยะแรกๆ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชและญาติมักไม่อยากยอมรับความจริงว่า บุคคลผู้เป็นที่รักเจ็บป่วยเป็นโรคนั้นๆ บางคนถึงหันไปใช้วิธีทางไสยศาสตร์เพื่อรักษาโรค ซึ่งเป็นผลทำให้ไปรับการรักษาโรคอย่างเหมาะสมล่าช้า บางคนที่ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาทางจิตเวช มีความเชื่อผิดๆ ว่ายาเหล่านั้นเป็นผลเสียต่อร่างกาย และอาจทำให้ติดได้ พวกเขาจึงเลิกใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่งมีผลให้ป่วยซ้ำ
  2. บรรยากาศความตึงเครียด ความขัดแย้งในครอบครัว หรือการแสดงออกทางอารมณ์และการสื่อสารที่ไม่ดี  ทุกสิ่งข้างต้นก็เป็นปัจจัยที่ทำให้อาการป่วยดำเนินต่อไป หรือรุนแรงขึ้นได้

การวินิจฉัยโรคจิตเวช

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีข้อมูลว่าโรคจิตเวชมักเกิดจากความไม่สมดุลของการหลั่งสารสื่อประสาท แต่ยังไม่มีการทดสอบที่สามารถบ่งชี้ว่าสารสื่อประสาทตัวใดมีปัญหาหรือบอกปริมาณของสารสื่อประสาทชนิดนั้นๆ ให้แน่ชัดได้ จิตแพทย์วินิจฉัยโรคโดยอาศัยการสังเกตอาการของคนไข้ และการบอกเล่าอาการจากคนไข้และญาติเป็นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตามในบางกรณี จะมีการแนะนำให้คนไข้ไปตรวจทางกายบางอย่างเพื่อที่จะวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น เช่น การตรวจเลือดแยกแยะว่า ปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าหรือไม่ การตรวจคลื่นสมอง สามารถช่วยระบุได้ว่าบุคคลนั้นป่วยเป็นโรคจิตเวชหรือโรคลมชัก และการถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะสามารถช่วยบอกปัญหาได้ชัดเจนขึ้น เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกหรือสมองฝ่อ


สรุป

โรคจิตเวช เหมือนโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษา และสามารถรักษาให้หายได้ โรคจิตเวชไม่ใช่โรคติดต่อ แต่หากจัดการกับอารมณ์ในแง่ลบในทางที่ผิด ก็จะทำให้เราและผู้อยู่รอบข้างเราเครียดมากขึ้น ดังนั้น เราจึงควรรักษาจิตใจให้มีสุขภาพดี และเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายและจัดการกับความเครียด การทำเช่นนี้จะลดโอกาสทีเราจะป่วยเป็นโรคจิตเวช





 

 
 
 
 
Copyright © 2014-2024 โดย องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง - www.namboluang.go.th
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง เลขที่ 222 หมู่ที่ 2 ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 50120 โทรศัพท์ (052) 080778 โทรสาร (052) 080935 , (052) 080926 Email:namboluang@gmail.com

เว็บไซต์ออกแบบและพัฒนาโดย www.click2solutions.com