ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โทร 052-080778
นายเจริญ ซ้อนฝั้น
นายกองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0843782356
นายบดินทร์ คล้อยคล้า
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์0854265973

ขณะนี้ 7 คน
สถิติวันนี้ 608 คน
สถิติเดือนนี้ 8922 คน
สถิติปีนี้ 120381 คน
สถิติทั้งหมด 1910245 คน
ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2557
 

ประชาสัมพันธ์ วิธีเอาตัวรอกจากภัยพิบัติต่างๆ (31 พ.ค. 59)

วิธีเอาตัวรอดจาก "อัคคีภัย"

ไฟไหม้บ้าน เป็นเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่เรื่องแบบนี้บางครั้งก็เป็นความพลาดพลั้ง และเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ก็คงเป็นการป้องกันให้รอบคอบ และถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างไฟไหม้บ้าน ก็ต้องหาทางเอาตัวรอดออกมาให้ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด วันนี้เรามีวิธีป้องกันไฟไหม้ และวิธีเอาตัวรอดเมื่อไฟไหม้บ้านต่อไปนี้มาให้คุณได้รู้ข้อมูลเผื่อไว้สักหน่อย เพื่อให้ชีวิตของทุกคนในบ้านปลอดภัย และไม่เสี่ยงอันตรายจากไฟไหม้นะคะ ลองไปดูกันเลย
วิธีป้องกันไฟไหม้บ้าน

ติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟ
เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน ควรติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟไว้ภายในบ้านด้วย โดยเฉพาะในจุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดเพลิงไหม้ เช่น ห้องครัว ห้องซักผ้า โรงรถ และห้องนอนทุกห้อง หรือทางที่ดีควรจะติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟทุกส่วนในบ้านเลยยิ่งดีค่ะ
เช็กสภาพเครื่องตรวจจับควันไฟ
เครื่องตรวจจับควันไฟทำงานได้ด้วยระบบแบตเตอรี่ ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นตรวจจสอบแบตเตอรี่และสภาพการใช้งานของเครื่องตรวจจับควันไฟอยู่เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็ปีละครั้ง แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเช็กสภาพการใช้งานทุกเดือนได้ก็จะยิ่งดีที่สุด
สร้างทางหนีไฟ
ในบ้านควรจะมีประตูหนีไฟเผื่อไว้บ้าง โดยเฉพาะถ้าเป็นบ้าน 2 ชั้น ก็ต้องสร้างบันไดหนีไฟเอาไว้ด้วย หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องสร้างชานหน้าต่างให้มีความกว้างพอที่จะปีนออกไปยืนได้ เผื่อมีกรณีฉุกเฉินอย่างไฟไหม้เกิดขึ้น จะได้ใช้ทางหนีไฟเหล่านี้หนีรอดออกมาได้อย่างปลอดภัย
ซ้อมหนีไฟเป็นประจำ
ทุกคนในบ้านควรจะต้องเรียนรู้วิธีการหนีไฟ และวิธีการป้องกันตัวเองจากเพลิงไหม้ที่ถูกวิธี โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต้องสอนให้เขารู้จักทางหนีไฟภายในบ้านให้ครบถ้วน นอกจากนี้ก็ควรซ้อมหนีไฟกันเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคนนะจ๊ะ
แปะเบอร์โทรฉุกเฉินให้เห็นเด่นชัด
เพื่อความรอบคอบ ควรเขียนเบอร์โทรฉุกเฉิน เช่น เบอร์โทรสถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ และเบอร์โทรโรงพยาบาลใกล้บ้าน เอาไว้ให้เห็นเด่นชัด จะติดไว้บนกำแพงตรงจุดที่วางโทรศัพท์บ้านก็ได้ เวลาเกิดเหตุขึ้นมาจะได้ไม่ตกใจจนลนลานและลืมเบอร์เหล่านี้ไปจนหมด
ติดตั้งเครื่องตัดไฟ
เซฟทีคัท หรือเครื่องตัดไฟทุกชนิดก็ควรจะต้องมีติดไว้ที่บ้านเช่นกัน  เพราะหากเกิดกรณีไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องตัดไฟเหล่านี้จะได้ช่วยตัดกระแสไฟในบ้านได้เลยทันที ไร้กังวลกับเหตุเพลิงไหม้ได้ประมาณนึงเลยล่ะ
ซื้อถังดับเพลิงติดไว้
นอกจากเครื่องตรวจจับควันไฟและเครื่องตัดไฟ ก็น่าจะซื้อถังดับเพลิงเอาไว้ที่บ้านบ้าง อย่างน้อยก็ชั้นละ 1 ถัง ติดตั้งในจุดที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก ให้ทุกคนในบ้านรู้ตำแหน่งของถังดับเพลิง และที่สำคัญอย่าลืมศึกษาวิธีการใช้ถังดับเพลิงกันทุกคนด้วยนะ
ใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง
ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมกันภายในเต้าเสียบไฟเต้าเดียว  เพราะอาจจะทำให้เกิดไฟช็อตและไฟฟ้าลัดวงจรได้ รวมทั้งควรจะติดตั้งสายดินของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านด้วย และหมั่นตรวจสอบสภาพการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดอยู่เสมอ หากมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นไหนชำรุด เช่น สายไฟขาด ก็ไม่ควรใช้ แต่ควรนำไปซ่อมแซมหรือซื้ออันใหม่มาใช้ทันที
ลดความเสี่ยงเกิดไฟไหม้
สาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านมีได้หลายอย่าง เช่น เพลิงไหม้ในห้องครัว ที่อาจจะเกิดจากความสะเพร่าของเราเอง เป็นต้นว่า เผลอตั้งไฟทิ้งไว้แล้วลืม หรือวางผ้าเช็ดมือและวัตถุไวไฟใกล้กับเตาไฟเกินไป รวมทั้งกรณีลืมถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย ซึ่งเพื่อความปลอดภัย เราก็ควรสำรวจความเรียบร้อยของสิ่งเหล่านี้ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน และพยายามใช้ความระมัดระวังทุกครั้งที่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟืนด้วยจ้า
ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน

บุหรี่ก็เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้อย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าสูบในบ้าน บนเตียงนอน หรือบนโซฟา ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นถ้ามีสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ ควรจัดที่สูบบุหรี่เป็นกิจจะลักษณะ และควรจะจัดที่ทางสำหรับสูบบุหรี่ด้านนอกบ้านที่เป็นพื้นที่โล่ง ๆ ลมโกรกดี ๆ ด้วยนะคะ


เก็บฟืนไฟให้ห่างมือเด็ก
สำหรับบ้านที่มีเด็กวัยกำลังซน ควรสอนให้เขาอยู่ห่างจากไฟให้ได้มากที่สุด และควรใส่ใจดูแลเขาทุกฝีก้าว ไม่ควรปล่อยให้เขาเล่นเพียงลำพัง เพราะเขาอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปหยิบมาเล่นจนเกิดเพลิงไหม้ และทางที่ดี ก็ควรเก็บไฟแช็ก ไม้ขีดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอันตรายทุกชิ้นให้ห่างจากมือเขาด้วยค่ะ นอกจากนี้ลองติดตั้งเต้าเสียบไฟแบบมีฝาครอบก็จะยิ่งปลอดภัยต่อเด็ก ๆ มากขึ้น
เก็บของสำคัญไว้ในที่หยิบง่าย
ของสำคัญเช่น กุญแจบ้าน กุญแจรถ และกระเป๋าสตางค์ ควรจะจัดเก็บในจุดที่หยิบจับง่าย เก็บให้เป็นที่เป็นทาง ไม่เปลี่ยนตำแหน่งบ่อย และควรให้ทุกคนรับรู้ตำแหน่งวางสิ่งของเหล่านี้โดยทั่วกัน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้หยิบฉวยและช่วยทุกคนในบ้านหนีออกมาอย่างปลอดภัยได้ทันการณ์
เผื่อเงินสำรองไว้นอกบ้าน
ทรัพย์สินสำคัญ หรือของมีค่าที่มีอยู่ ควรจะจัดหาที่เก็บที่อื่นนอกจากในบ้านบ้าง เช่น จัดเก็บในตู้เซฟของธนาคาร เป็นต้น เพราะหากเกิดไฟไหม้กับบ้านของคุณ อย่างน้อยก็ยังพอมีทรัพย์สินติดตัวไว้บ้างนั่นเอง
ทำประกันภัยเพลิงไหม้ไว้ก็ดี
เดี๋ยวนี้ประกันภัยความเสียหายเพลิงไหม้ก็มีให้เลือกทำหลายบริษัท ซึ่งถ้ามีโอกาสก็น่าจะทำประกันภัยเพลิงไหม้และความเสียหายอื่น ๆ ให้บ้านไว้บ้าง เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินแบบนี้จะได้มั่นใจว่ายังพอมีหนทางช่วยเหลือ และแนวทางฟื้นฟูทั้งบ้านและคนในครอบครัวให้อุ่นใจสักหน่อย
สำรองข้อมูลในคอมพิวเตอร์อยู่เสมอ
สำหรับคนทำงานที่มักจะทำงานในคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ ควรหาที่จัดเก็บข้อมูลสำรองเอาไว้เสมอ เช่น ใส่ฮาร์ดดิสก์ ไรท์ลงแผ่น แล้วแยกไว้ที่ทำงานก็ได้ เผื่อกรณีที่เครื่องคอมพิวเตอร์เกิดชำรุดเสียหาย จะได้มีข้อมูลสำคัญเหลืออยู่ ไม่หายไปไหน
วิธีหนีไฟไหม้อย่างปลอดภัย
ตื่นตัวให้เร็วที่สุด
ถ้าได้ยินเสียงร้องเตือนของเครื่องจับควันไฟที่ดังขึ้น หรือได้กลิ่นไหม้ภายในบ้าน ให้คุณรีบเดินสำรวจจุดเกิดเหตุ และพาทุกคนออกจากบ้านให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะถ้าเกิดเหตุในช่วงกลางคืน ก็ต้องร้องตะโกนให้สุดเสียง เพื่อปลุกให้ทุกคนในบ้านตื่น และเตรียมตัวหนีรอดโดยไว ที่สำคัญอย่ามัวห่วงหน้าพะวงหลัง ข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญก็ไม่ต้องไปสนใจ นาทีนี้ควรรีบพาตัวเองและทุกคนในครอบครัวไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัยก่อนนะคะ
สำรวจประตูหนีไฟ
ถ้าแน่ใจแล้วว่าเกิดไฟไหม้ที่บ้าน และสังเกตเห็นควันไฟลอดผ่านช่องประตูด้านล่างเข้ามา ให้รีบโทรแจ้งสถานีดับเพลิง และแจ้งตำรวจก่อนเป็นอันดับแรก แล้วพยายามหาทางออกจากบ้านให้เร็วที่สุด ถ้าประตูทางออกหน้าบ้านไม่สามารถออกได้ เพราะมีเปลวไฟลุกกั้นทางเดินอยู่ ให้เดินหาทางออกทางอื่น โดยก่อนจะเปิดประตู ให้ใช้หลังมือสัมผัสกับประตูก่อน ว่าประตูร้อนหรือไม่ เพราะถ้าประตูร้อนก็แสดงว่าด้านหลังประตูนั้นต้องมีเพลิงไฟปะทุอยู่แน่ ๆ ฉะนั้นก็ต้องรีบหาทางออกทางอื่นต่อไป แต่ถ้าไม่มีประตูอื่นให้หนีออกมาได้ ก็ต้องเสี่ยงหนีออกทางหน้าต่างแทนแล้วล่ะ แต่ยังไงก็ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยนะคะ
ปิดปาก ปิดจมูก คลานหนีควันไฟ
ถ้าคุณยังหาทางหนีออกมาไม่ได้ และยังติดอยู่ด้านใน ให้รีบหาผ้าขนหนูชุบน้ำให้ชุ่ม แล้วเอามาปิดปากและจมูกของคุณและทุกคนในครอบครัว จากนั้นก็พากันก้มต่ำ คลานด้วยเข่าและมือทั้ง 2 ข้าง เพื่อหนีควันไฟ โดยรีบหาทางออกมาจากตัวบ้านให้เร็วที่สุด เพราะวิธีก้มต่ำแบบนี้ จะช่วยให้รอดพ้นจากการสูดควันไฟเข้าไป จนเกิดอาการสำลักควันไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนประสบเหตุเพลิงไหม้เสียชีวิตมานักต่อนัก
กลิ้งตัวดับไฟที่ติดบนเสื้อผ้า
ในกรณีที่เสื้อผ้าของคุณมีเปลวไฟติดมา ให้รีบนอนราบลงกับพื้น เอามือปิดหน้า และกลิ้งตัวไปมากับพื้นจนไฟที่ลุกท่วมอยู่ดับสนิท วิธีนี้จะช่วยให้ไฟที่ติดอยู่บนเสื้อผ้าดับสนิทในเวลาอันรวดเร็ว และเมื่อแน่ใจว่าไม่มีเปลวไฟบนตัวแล้ว ก็ต้องรีบลุกและหาทางหนีออกมาให้เร็วที่สุดด้วยนะคะ
อย่าตื่นตกใจ
ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันแค่ไหนก็ตามแต่ สิ่งสำคัญที่คุณควรต้องมีไว้ตลอดเวลาคือ สติ และถ้าเป็นไปได้ก็พยายามอย่าตื่นตกใจจนเกินไปนัก เพราะอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อย่างถ้าคุณไม่สามารถหาทางหนีออกไปได้ และต้องอยู่นิ่ง ๆ รอความช่วยเหลือ ให้คุณตั้งสติให้ดี พาตัวเองและคนอื่น ๆ ไปอยู่ในจุดที่คิดว่าจะปลอดภัยที่สุด แล้วก็ช่วยกันหาผ้าเท่าที่จะหาได้มาชุบน้ำให้ชุ่ม เสร็จแล้วก็นำไปอุดตามช่อง หรือรอยแตกของประตูให้หมด เพื่อป้องกันควันไฟลอยเข้ามา รวมทั้งหาผ้าชุบน้ำมาปิดปากและจมูกของตัวเองด้วย เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยดีแล้วก็ยืนรอความช่วยเหลืออย่างมีสติ
แสดงสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือ
ถ้าในขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ แล้วคุณติดอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน ต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้คนอื่นได้เห็นว่าคุณติดอยู่ในนี้ เพื่อที่เขาจะได้มาช่วยเหลือเราได้ทันเวลา โดยถ้าหาที่ปลอดภัยได้ เช่น ระเบียงบ้าน ก็ให้พากันไปยืนอยู่ตรงนั้น พร้อมกับช่วยกันร้องตะโกน หรือออกไปยืนแสดงตัวให้คนภายนอกได้เห็นว่ามีคนติดอยู่ในบ้าน และทางที่ดีควรหาผ้าขาว ผ้าแดง หรือเสื้อผ้าอะไรก็ได้ แขวนนอกหน้าต่าง หรือระเบียงเป็นสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ คุณควรจะปิดหน้าต่างประตู เพื่อป้องกันออกซิเจนในอากาศไปกระพือให้เพลิงไฟยิ่งลุกลาม และหาผ้าไปอุดช่องประตู เพื่อกันควันไฟทะลักออกมาตรงจุดที่คุณยืนอยู่ด้วย
หนีออกทางหน้าต่าง
นี่คือเหตุผลที่คุณควรจะสร้างบันไดหนีไฟไว้บ้าง ถ้าคุณคิดจะสร้างบ้าน 2 ชั้น หรืออย่างน้อย ๆ ก็ควรสร้างชานหน้าต่างให้กว้างพอที่จะออกไปเดินได้อย่างไม่อันตรายเกินไปนัก เพราะถ้าเกิดกรณีไฟไหม้อย่างนี้ และคุณติดอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน จะได้ปีนบันไดหนีไฟออกมาได้อย่างปลอดภัย หรือถ้าไม่มีบันได ก็จะได้ปีนออกมาทางหน้าต่าง แล้วค่อย ๆ เดินอย่างระวังบนชานบันได รอความช่วยเหลือ หรือค่อย ๆ ไต่ลงไปด้านล่าง ในกรณีที่ความสูงระหว่างชั้น 2 ของบ้านกับพื้นดินไม่สูงจนเกินไปนัก
นับจำนวนสมาชิกในบ้าน
ในกรณีที่หนีออกมาอยู่ข้างนอกได้อย่างปลอดภัย อันดับแรกที่คุณควรจะทำก็คือ นับจำนวนสมาชิกในบ้านว่าอยู่กันครบถ้วนหรือไม่ ถ้าพบว่ามีใครคนใดคนหนึ่งหายไป ให้รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิง หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้รับรู้ทันที เขาจะได้ออกตามหา หรือเข้าไปช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในบ้านได้ทันเวลา และที่สำคัญอย่าเสี่ยงเข้าไปช่วยเหลือญาติด้วยตัวเองเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายทั้งกับคุณและญาติที่ติดอยู่ด้วยกันทั้งคู่
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ถ้าสามารถหนีออกมาอยู่ในที่ปลอดภัยกันครบถ้วนทุกคนแล้ว ให้รีบสำรวจอาการบาดเจ็บของตัวเองและทุกคนโดยเร็วที่สุด ถ้ามีใครบาดเจ็บเพราะโดนไฟลวก หรือมีอาการสำลักควันไฟ ก็ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
ออกจากพื้นที่โดยด่วน

พยายามอยู่ห่างจากเปลวเพลิงให้ได้มากที่สุด ส่วนข้าวของภายในบ้านก็ไม่ต้องไปห่วง เพราะตราบใดที่ไฟยังไม่ดับมอดลง คุณก็ไม่สามารถเข้าไปขนออกมาได้อยู่แล้ว ดังนั้นนาทีก็ต้องห่วงสวัสดิภาพของคนในบ้านให้มากที่สุด และเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว และพื้นที่มีความปลอดภัยมากพอ ก็ค่อยมาสำรวจความเสียหายภายหลัง


วิธีเอาตัวรอดจาก "วาตภัย"

วาตภัย

ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากพายุลมแรง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ และสิ่งก่อสร้าง สำหรับในประเทศไทยวาตภัยหรือพายุลมแรงมีสาเหตุมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยสามารถแบ่งลักษณะของวาตภัยได้ตามความเร็วลม เช่น พายุฟ้าคะนอง พายุดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน พายุไต้ฝุ่น พายุหมุนเขตร้อน ได้แก่ ดีเปรสชั่น พายุโซนร้อน พายุใต้ฝุ่น

1.ความรุนแรงและอันตรายจากพายุไต้ฝุ่น
บนบก

ต้นไม้ล้ม ถอนราก ถอนโคน จะทำให้เกิดอันตรายจากต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน บ้านเรือนพังทับผู้คนในบ้านและใกล้เคียงบาดเจ็บหรือตาย เรือกส่วนไร่นาเสียหายหนักมาก เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช็อต เกิดเพลิงไหม้และผู้คนอาจเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดได้ ผู้คนที่มีอาคารพักอาศัยอยู่ริมทะเลอาจถูกน้ำพัดพาลงทะเลจมน้ำตายได้ ดังเช่น ปรากฏการณ์ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในทะเล
ในทะเลลมแรงจัดมาก คลื่นใหญ่ เรือขนาดใหญ่ ๆ ขนาดหมื่นตันอาจจะถูกพัดพาไปเกยฝั่งล่มจมได้ บรรดาเรือเล็กเป็นอันตรายล่มจมสิ้น ไม่สามารถจะต้านความรุนแรงของพายุได้คลื่นใหญ่ซัดขึ้นริมฝั่งจนทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงมากจนท่วมอาคารบ้านช่องริมทะเลได้ บรรดาโป๊ะจับปลาในทะเลถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงโดยคลื่นและลม

2.ความรุนแรงและอันตรายจากพายุโซนร้อน
พายุโซนร้อนมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น ความเร็วของลมบริเวณใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่34น็อต หรือ62กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่เกิน63น็อต หรือ117กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฉะนั้นอันตรายอันจะเกิดจากการที่พายุนี้พัดมาปะทะลดลงในระดับรองลงมาจากพายุไต้ฝุ่น แต่ถึงกระนั้นก็ตามความรุนแรงที่จะทำให้ความเสียหายก็ยังมีมากเหมือนกัน ในทะเลลมจะแรงมากจนสามารถจะจมเรือขนาดใหญ่ ๆ ได้ต้นไม้ถอนรากถอนโคน ดังเช่น พายุโซนร้อนที่ปะทะฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช

3.ความรุนแรงและอันตรายจากพายุดีเปรสชั่น
พายุดีเปรสชั่นเป็นพายุที่มีกำลังอ่อนความเร็วของลมใกล้บริเวณศูนย์กลางไม่เกิน33น็อต หรือ61กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่ทำให้มีฝนตกหนักปานกลางทั่วไปตลอดทางที่พายุดีเปรสชั่นผ่านไป และมีฝนตกหนักเป็นแห่ง ๆ พร้อมด้วยลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งบางคราวจะรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายได้บ้าง ไม่ปลอดภัยเสียทีเดียว ในทะเลค่อนข้างแรงและคลื่นจัด บรรดาเรือประมงขนาดเล็กขนาดต่ำกว่า50ตันควรงดออกทะเลเพราะอาจจะล่มลงได้

4.ความรุนแรงและอันตรายจากพายุฤดูร้อน
พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่เกิดขึ้นโดยเหตุและวิธีการต่างกับพายุดีเปรสชั่น และเกิดบนผืนแผ่นดินที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนแต่เป็นพายุที่มีบริเวณย่อม ๆ มีอาณาเขตเพียง20-30ตารางกิโลเมตร แต่อาจมีลมแรงมากถึง47น็อต หรือ87กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังพายุที่เกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่2พฤษภาคม พ.ศ.2494และพายุที่เกิดขึ้นที่อำเภอมุกดาหารเมื่อวันที่8เมษายน พ.ศ.2497พายุนี้มีกำลังแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้มากเหมือนกันแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ2-3ชั่วโมง

การเตรียมการป้องกันอันตรายจากวาตภัย

1. ติดตามข่าวสาร การพยากรณ์อากาศผ่านทางวิทยุโทรทัศน์ อย่างสม่ำเสมอ

2. ตรวจสอบบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ว่ามั่งคงแข็งแรง ปลอดภัยจากลมแรงหรือไม่ สิ่งของที่อาจจะหล่นลงมาแตกหักได้ง่าย ให้จัดวางในที่ปลอดภัยหรือผูกมัดให้แน่นหนา

3. ตรวจสอบต้นไม้ กิ่งไม้ บริเวณใกล้เคียงอาคารบ้านเรือนหากจะเป็นอันตรายเมื่อเกิดพายุให้ตัดเสีย

4. เมื่อเกิดลมพายุ  ไม่ควรออกไปในที่โล่งแจ้งเพราะอาจเกิดอันตรายได้ ควรอยู่ในที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย อย่าเปิดเมื่อพายุพัดผ่าน

5. เมื่อพายุพัดต้นไม้หรือกิ่งไม้ล้มทับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย หรือมีคนบาดเจ็บ ให้รีบแจ้งสำนักงานเขต หรือสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ 199


วิธีเอาตัวรอดจาก "อุทกภัย"

อุทกภัย

อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีน้ำเป็นสาเหตุ อาจจะเป็นน้ำท่วม น้ำป่า หรืออื่น ๆ โดยปกติ อุทกภัยเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน บางครั้งทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม อาจมีสาเหตุจากพายุ หมุนเขตร้อนลมมรสุมมีกำลังแรง ร่องความกดอากาศต่ำมีกำลังแรง อากาศแปรปรวน น้ำทะเลหนุนแผ่นดินไหว เขื่อนพัง ทำให้เกิดอุทกภัยได้เสมอ

ชนิดของอุทกภัย

1. น้ำป่าไหลหลาก เกิดจากฝนตกหนักบนภูเขา หรือต้นน้ำลำธารและไหลบ่าลงที่ราบอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีต้นไม้ ช่วยดูดซับ ชะลอกระแสน้ำ ความเร็วของน้ำ ของท่อนซุง และต้นไม้ ซี่งพัดมาตามกระแสน้ำจะทำลายต้นไม้ อาคาร ถนน สะพาน และชีวิตมนุษย์และสัตว์จนได้รับความเสียหาย.

2.     น้ำท่วมขัง น้ำเอ่อนอง เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง มีระดับสูงจากปกติท่วมแช่ขัง ทำให้การคมนาคมหยุดชะงัก เกิดโรคระบาดได้ ทำลายพืชผลเกษตรกร

3. คลื่นซัดฝั่ง เกิดจากพายุลมแรงซัดฝั่ง ทำให้น้ำท่วมบริเวณชายฝั่งทะเล บางครั้งมีคลื่นสูงถึง10 เมตรซัดเข้าฝั่งซึ่งสามารถทำลายทรัพย์สินและชีวิตได้


การป้องกันและลดความเสียหายจากอุทกภัย

ควรติดตามฟังข่าวอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ เมื่อใดที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนให้อพยพ ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงควรรีบอพยพไปอยู่ในที่สูง อาคารที่มั่นคงแข็งแรง

ถ้าอยู่ที่ราบให้ระมัดระวังน้ำป่าหลาก จากภูเขาที่ราบสูงลงมา กระแสน้ำจะรวดเร็วมาก ควรสังเกตเมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกันบนภูเขาหลาย ๆ วัน ให้เตรียมตัวอพยพขนของไว้ที่สูง

ถ้าอยู่ริมน้ำให้เอาเรือหลบเข้าฝั่งไว้ในที่จะใช้งานได้ เมื่อเกิดน้ำท่วม เพื่อการคมนาคม ควรมีการวางแผนอพยพว่าจะไปอยู่ที่ใด พบกันที่ไหน อย่างไร

กระแสน้ำหลากจะทำลายวัสดุก่อสร้าง เส้นทางคมนาคม ต้นไม้และพืชไร่ ต้องระวังกระแสน้ำพัดพาไป อย่าขับรถยนต์ฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก แม้บนถนนก็ตาม อย่าลงเล่นน้ำ อาจจะประสพอุบัติภัยอื่นๆ อีกได้

หลังจากน้ำท่วม จะเกิดโรคระบาดในระบบทางเดินอาหารทั้งคนและสัตว์ ให้ระวังน้ำบริโภค โดยต้มให้เดือดเสียก่อน


ขณะเกิดอุทกภัยควรตั้งสติให้มั่นคง อย่าตื่นกลัวหรือตกใจ ควรเตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ด้วยความสุขุม รอบคอบ และควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

1.ตัดสะพานไฟ และปิดแก๊สหุงต้มให้เรียบร้อย


2.จงอยู่ในอาคารที่แข็งแรง และอยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน


3.จงทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ

4. ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก

5. ไม่ควรเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเล่นในขณะน้ำท่วม

6. ระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้าน และหลังคาเรือนกัดต่อย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้น

7. ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตลมฟ้าอากาศ และติดตามคำเตือนเกี่ยวกับ ลักษณะอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา

8. เตรียมพร้อมที่จะอพยพไปในที่ปลอดภัยเมื่อสถานการณ์จวนตัว หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ

9. เมื่อจวนตัวให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตมากกว่าห่วงทรัพย์สมบัติ


วิธีเอาตัวรอดจาก "แผ่นดินไหว"


ราจะรับมือแผ่นดินไหวอย่างไร
1. หาที่กำบังที่แข็งแรง (Drop, Cover, Hold-On)
และจับให้แน่นเพื่อให้ที่กำบังนั้นปกป้องคุณจากสิ่งของที่มักตกลงมาเวลาแผ่นดินไหว หากคุณไม่สามารถหาที่กำบังได้ให้หาวัสดุแข็งๆหรือเอามือปิดหัวไว้ หรือเดินไปอยู่มุมที่มั่นใจว่าจะไม่มีของหล่นลงมา

2. อย่าวิ่งออกจากตึกเมื่อกำลังแผ่นดินไหว
เพราะสิ่งของอาจตกมาหาคุณขณะวิ่งได้ทุกเมื่อ คุณควรรอเมื่อแผ่นดินไหวหมดไปก่อน

3. หากคุณเปิดเตาไฟอยู่ให้ปิดมันซะ
เพราะมันอาจทำให้บ้านคุณไฟไหม้ได้


4. เปิดประตูแง้มไว้เสมอ
เพราะหากโครงสร้างบ้านโดนบีบหรือถล่มลงมาคุณจะไม่มีทางเปิดประตูได้หากคุณไม่เปิดมันไว้แต่แรก


5. หากคุณอยู่ข้างนอกเมื่อแผ่นดินไหว อย่าอยู่ตรงที่ที่น่าจะมีของหล่นมา
และต้องหาสิ่งของมาป้องกันหัวตัวเองด้วย นอกจากนี้ควรวิ่งไปอยู่ในตึกที่แข็งแรง หรือที่โล่งๆที่ไม่น่าจะมีอะไรล้มลงมาโดนคุณ


6. ใส่รองเท้าเสมอ
เมื่อแผ่นดินไหวจบลง แน่นอนว่าหลายๆอย่างจะต้องแตกหักดังนั้นคุณต้องใส่รองเท้าเสมอ


7. หากอยู่ข้างนอกให้ระวัง Tsunami หรือดินถล่ม
หากคุณขับรถอยู่ต้องระวังเรื่องถนนขาดหรือดินถล่มมาก และหากอยู่ติดทะเลให้รีบวิ่งขึ้นที่สูงทันที 







เอกสารวิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว (293 KB.)
เอกสารวิธีเอาตัวรอดอุทกภัย (559 KB.)
เอกสารวิธีเอาตัวรอดจากอัคคีภัย (246 KB.)
เอกสารวิธีเอาตัวรอดจากวาตภัย (266 KB.)
 

 
 
 
 
Copyright © 2014-2024 โดย องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง - www.namboluang.go.th
องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำบ่อหลวง เลขที่ 222 หมู่ที่ 2 ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 50120 โทรศัพท์ (052) 080778 โทรสาร (052) 080935 , (052) 080926 Email:namboluang@gmail.com

เว็บไซต์ออกแบบและพัฒนาโดย www.click2solutions.com